• 123-456-7878
  • info@yourwebsite.com
อาหารเสริมและสมุนไพร ดีอย่างไร ?

อาหารเสริมและสมุนไพร ดีอย่างไร ?

อาหารเสริม

พอได้ยินคำว่า “อาหารเสริม” หลายท่านคงถามขึ้นมาทันทีว่าของใคร
เมื่อก่อนนี้อาหารเสริมมักหมายถึง อาหารของเด็กเล็ก โดยเฉพาะระยะที่เริ่มหย่านมและเปลี่ยนเป็นอาหารแบบผู้ใหญ่ ในปัจจุบันนี้ คำว่าอาหารเสริมถูกนำมาใช้ในหลายความหมายจนพากันสงสัยไปหมดว่า วัยไหนๆ ก็ดูจะต้องการอาหารเสริมไปเสียหมด ทั้งที่มีทั้งเสริมจริงและเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ บทความนี้ขอเสนอเรื่อง “อาหารเสริมสำหรับเด็ก” ซึ่งมีความจำเป็นจริงๆ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติในการเสริมอาหารให้เหมาะสม

การเติบโตของเด็กในระยะแรก

เด็กมีการเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะ 3 เดือนสุดท้ายที่อยู่ในท้องแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมาณ 6-7 สัปดาห์ก่อนคลอด สมองเด็กจะเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่เด็กก็ยังอาศัยอาหารจากแม่ผ่านทางสายรก อวัยวะต่างๆ ของเด็กยังไม่เริ่มทำงานจนกว่าคลอดออกมาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อคลอดออกมา สมองเด็กก็ยังโตอย่างรวดเร็ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตจะเห็นว่าสัดส่วนของส่วนหัวเทียบกับส่วนของตัวทั้งหมดจะใหญ่มาก อย่างไรก็ดี ร่างกายก็เติบโตรวดเร็วกว่าวัยใดๆ เช่นกัน

ในระยะ 2 ปีแรกนี้ สมองเด็กจะเติบโตจนมีขนาดถึงร้อยละ 80 ของขนาดสมองของผู้ใหญ่ แล้วจะช้าลงหลังจากนี้ไปจน 4 ขวบเด็กก็จะมีขนาดสมองเกือบเท่าสมองของผู้ใหญ่ สำหรับร่างกายเราสังเกตได้จากการเพิ่มของน้ำหนักตัวเด็กเมื่อแรกเกิด เด็กที่สมบูรณ์ควรมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ประมาณ 5 เดือนก็เพิ่มเป็นเท่าตัว คือ 6 กิโลกรัม พออายุ 1 ปีก็จะขึ้นไปอีกเป็น 9-10 กิโลกรัม

อาหารสำหรับเด็กในระยะหลังคลอด

เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว น้ำนมแม่เป็นอาหารสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก นมแม่ให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้สารที่ช่วยต้านทานโรคสำคัญๆ ที่ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก และการที่เด็กใกล้ชิดแม่โดยการได้ดื่มนมแม่นั้นยังเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก อันมีผลต่อการส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้วย บางท่านอาจสงสัยว่านมแม่อย่างเดียวจะพอสำหรับเด็กหรือ หรือถ้าพอ จะพอไปนานสักเท่าไร

คำถามนี้ได้มีผู้พยายามตอบมานาน แต่ไม่สามารถศึกษากันได้ง่ายๆ เพราะการเลี้ยงดูทารกในวัยเล็กๆ นี้ ในเชื้อชาติ กลุ่มชนต่างๆ มักจะมีวิธีการเลี้ยงดูที่ให้อาหารต่างๆ พร้อมๆ กันไปด้วย อย่างไรก็ดี เท่าที่มีข้อมูล กล่าวได้ว่า ถ้าแม่สมบูรณ์ดีตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ มีการเสริมอาหารเต็มที่ และน้ำหนักขึ้นสม่ำเสมอ แม่จะสามารถสร้างน้ำนมให้พอกับความต้องการของลูกได้เป็นเวลานาน 4-6 เดือน โดยจะให้สารอาหารสำคัญๆ คือ พลังงาน โปรตีน และธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ

ถ้าเรากลับมาพิจารณาแม่ไทยเราบ้าง จะพบว่าแม่ในเมืองที่มีฐานะปานกลางถึงดีหรือมีความรู้ และให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างดีตลอดการตั้งครรภ์ ก็ควรจะสร้างน้ำนมแม่ได้พอถึง 4-6 เดือนเช่นกัน แต่แม่ในกลุ่มที่มีเศรษฐฐานะด้อยกว่า หรือในชนบท อาจจะมีความสมบูรณ์ด้อยกว่าบ้าง จึงคาดว่าน้ำนมแม่อย่างเดียวน่าจะเพียงพอจนเด็กอายุ 3 เดือน หลังจากนี้แล้วเด็กจึงควรได้รับอาหารเสริมเพิ่มเติมนอกจากนมแม่ ข้อแนะนำในทางปฏิบัติคือให้เด็กได้ดื่มนมแม่ก่อน แล้วค่อยๆเริ่มให้อาหารเสริมที่เริ่มด้วยอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เช่น ข้าวบด กล้วยบด เพื่อฝึกเด็กให้รู้จักใช้ลิ้นช่วยในการกินอาหาร

เด็กควรได้รับอะไรเป็นอาหารเสริมบ้าง และเริ่มเมื่ออายุเท่าใด

ดังได้กล่าวแล้วว่า ใน 3 เดือนแรก เด็กควรได้น้ำนมแม่เต็มที่ พออายุประมาณ 3 เดือนเต็มก็เริ่มให้ข้าวบดผสมน้ำซุป หรือกล้วยบด พอครบ 4 เดือนแล้ว อาจเริ่มให้ไข่แดงทีละน้อย เช่น เริ่มจาก ¼ ฟองถึง ½ ฟอง บดผสมกับข้าวและน้ำซุป การให้ไข่แดงต้มสุกเด็กจะได้ทั้งโปรตีนและธาตุเหล็กซึ่งร่างกายเริ่มต้องการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ถั่วเขียวต้มเปื่อยบดผสมกับข้าว โดยระยะแรกอาจใช้ถั่วเขียวที่เอาเปลือกออกก่อน เด็กสามารถย่อยได้ดีโดยไม่เกิดปัญหาท้องอืด

อายุประมาณ 5 เดือน สามารถให้ปลาบดกับข้าว ควรระวังแกะเอาก้างปลาออกให้หมด ระยะนี้สลับไข่แดงกับปลา และเพิ่มฟักทองต้มสุกบดผสม หรือผักที่นิ่มๆ เช่น ผักกาดขาว ตำลึงสับละเอียดหรือบดผสมกัน ไม่ต้องกลัวว่าผักจะทำให้อาหารมีรสขม เพราะสามารถเลือกชนิดของผักให้เหมาะสมได้ พอ 6 เดือนก็เริ่มให้เด็กได้อาหารเท่ากับ 1 มื้อ นอกนั้นยังคงให้น้ำนมแม่ จะสังเกตเห็นว่า ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 3 เดือนนั้น จะให้นมแม่เป็นอาหารหลัก และเริ่มให้อาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวเป็นอาหารเสริม พอล่วงเข้าประมาณ 5-6 เดือน นมแม่เริ่มเปลี่ยนเป็นอาหารเสริม และอาหารเสริมต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

พอเด็กอายุได้ 7-8 เดือน ก็สามารถที่จะให้เนื้อบดละเอียดผสมกับข้าว และให้ผลไม้นิ่มๆ ได้ อายุประมาณ 9 เดือน ก็ให้อาหารได้ถึง 2 มื้อ และ 1 ปีให้ได้ 3 มื้อ สำหรับไข่นั้นแม้จะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ให้ทั้งโปรตีนและเหล็ก แต่ไข่ขาวยังไม่ควรให้จนกว่าเด็กจะมีอายุประมาณ 10 เดือนไปแล้ว เพราะเด็กเล็กก็อาจมีการแพ้ไข่ขาวจึงควรรอจนกว่าร่างกายเด็กจะพร้อม โดยทั่วๆ ไปไม่มีเกณฑ์ตายตัวว่าต้องอายุเท่าไร จึงจะให้อาหารประเภทนั้นๆ ได้ อายุที่ให้ไว้นี้เป็นเพียงแนวทางให้ปฏิบัติ หรือเริ่มลองให้กับเด็ก กว่าเด็กจะคุ้นก็ใช้เวลาบ้าง สำหรับอาหารบางอย่าง เด็กในวัยนี้ยังไม่รู้จักแยกแยะว่าอาหารใดชอบหรือไม่ชอบ

การให้อาหารเสริมที่ไม่เหมาะสม

ความไม่เหมาะสมในที่นี้มีความหมายได้หลายอย่าง ที่สำคัญที่จะกล่าวถึง คือ การให้อาหารเสริมที่ไม่เหมาะสมกับวัย และการให้อาหารเสริมในชนิดและปริมาณที่ไม่พอเหมาะ

การให้อาหารที่ไม่เหมาะสมกับวัย

ปรากฏการณ์นี้มักพบได้ชัดเจนในชุมชนชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคยชินที่ถือปฏิบัติกันในภาคเหนือและภาคอีสาน แม่จะเคี้ยวข้าวซึ่งส่วนมากจะเป็นข้าวเหนียวจนละเอียด แล้วคายใส่ใบตอง ค่อยๆป้อนให้กับลูกตั้งแต่คลอดออกมาได้ 3-7 วัน ซึ่งนับว่าเร็วมากจริงๆ การปฏิบัตินี้ถือกันมาเป็นประเพณี และจากความพยายามปรับพฤติกรรมในเรื่องนี้พบว่ายากมาก แม่เด็กหรือย่ายายมักให้เหตุผลว่าลูกบ้านนอกแม่ก็ไม่ค่อยได้บำรุงอะไรมากตอนเด็กอยู่ในท้อง ไม่แน่ใจว่านมแม่จะพอและเพื่อความอุ่นใจ การให้ข้าวในรูปที่เรียกว่า ข้าวย้ำ หรือข้าวย่ำ (แล้วแต่สำเนียง) น่าจะช่วยทดแทนสิ่งที่อาจขาดหายไปให้กับเด็กได้ อีกทั้งสังเกตว่า เด็กที่ได้กินข้าวย้ำและนมแม่จะทำให้เด็กอิ่มท้อง นอนหลับได้นาน และถ้าแม่ต้องลุกขึ้นมาทำงานบ้านบ้างในระยะหลังคลอด ก็จะทำได้ดีขึ้น เพราะลูกไม่ค่อยร้องกวนอยากกินนมแม่

เท่าที่ทำได้ขณะนี้ คือ การพยายามให้ความรู้ที่ถูกต้อง แม่ก็จะให้อาหารเสริมช้าลงบ้าง คือ แทนที่จะรีบให้ภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด ก็เปลี่ยนไปรอจนกว่าอายุประมาณ 1 เดือน แต่ก็นับว่ายังไม่ประสบผลที่ต้องการ คือ เริ่มเมื่อ 3 เดือนไปแล้ว ในอีกส่วนที่ต้องพยายามทำควบคู่กันไป คือ การสนับสนุนให้แม่กินอาหารเพิ่มเติม โดยเฉพาะระยะครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายแม่พร้อมที่จะสร้างน้ำนมให้ลูกได้เต็มที่

ในทางตรงข้าม ชนบทเรายังนิยมการให้อาหารอื่นนอกจากกล้วยกับข้าวช้ากว่าที่ควร เช่น เด็กจำเป็นต้องได้โปรตีนซึ่งในชนบทหาได้ยาก ถ้ามีปลาก็ควรเริ่มให้ตั้งแต่ 5-6 เดือนแล้ว มักจะรอจนประมาณอายุ 1 ขวบ คือ ให้เด็กพูดปลาได้เสียก่อน สิ่งเหล่านี้ก็ต้องช่วยกันให้ความรู้และทำความเข้าใจให้ชัดเจน ความไม่พอเหมาะด้านชนิดและปริมาณ โดยปกติลักษณะอาหารที่นิยมกันในชนบทจะมีไขมันต่ำมาก ดังนั้นการเตรียมอาหารให้เด็กจึงมีไขมันน้อยด้วย อันนี้ก็พอแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คือ การแนะนำให้แม่ทำไข่ทอด ปลาทอด หรือเนื้อทอด จะได้มีการใช้น้ำมัน

บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมต้องส่งเสริมเรื่องของน้ำมัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเอาข้าว 1 กรัมเทียบกับไขมัน/น้ำมัน 1 กรัม จะได้พลังงานจากข้าวประมาณ 4 แคลอรี แต่ได้จากน้ำมัน 9 แคลอรี ดังนั้นถ้าเราอยากให้เด็กได้พลังงานเพียงพอ ถ้าให้กินข้าวมากๆ ท้องเด็กจะรับไม่ไหว เพราะฉะนั้นโอกาสจะได้พลังงานเพียงพอจึงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเรามีการใช้น้ำมันมาผัดทอดอาหารด้วย ก็จะทำให้ปริมาณอาหารลดลง แต่สามารถได้แคลอรีมากพอ ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างที่เน้นให้เห็นถึงอาหารที่สำคัญที่มักเกิดปัญหา สำหรับโปรตีน ปัจจุบันยังไม่พบปัญหารุนแรง เพราะประชาชนโดยทั่วๆ ไปรู้จักคุ้นหูกับอาหารโปรตีน และพยายามเสาะหาอยู่แล้ว

ปัญหาในการให้อาหารเสริม

อาจแบ่งปัญหาในการให้อาหารเสริมอย่างง่ายๆ คือ ในแง่ของปัญหาจากพ่อหรือแม่ และปัญหาของเด็กคือการป้อนอาหารที่เด็กยังไม่คุ้น เด็กอาจใช้ลิ้นดุนอาหารออกจากปาก ผู้ป้อนควรคอยสังเกตและป้อนต่อไปเพราะเด็กเพิ่งเริ่มหัด บางคนเข้าใจว่าเด็กไม่ชอบอาหารจึงงดไปเลย นอกจากนี้อีกปัญหาที่พบคือ เมื่อเริ่มอาหารใหม่เด็กบางคนจะอาเจียนหรือเกิดผื่นในลักษณะแพ้อาหาร ทำให้พ่อแม่สรุปว่า อาหารนั้นทำให้เด็กแพ้จึงเลิกให้ ความจริงแล้วก็อาจเป็นปัญหาในการปรับตัวให้คุ้นเช่นกัน จึงควรงดอาหารนั้นเพียงระยะหนึ่งแล้วกลับมาป้อนให้ใหม่ ส่วนใหญ่เด็กมักจะรับอาหารนั้นได้ดีขึ้น แต่ถ้าสังเกตว่ามีอาการแพ้อีก ควรยุติอีกระยะหนึ่ง แล้วทดลองให้อีก

ปัญหาทางพ่อแม่ที่สำคัญ คือ อาหารที่พ่อแม่ไม่ชอบหรือชิมรสชาติแล้วรู้สึกไม่อร่อย ก็สรุปเองว่าลูกคงจะไม่ชอบ เลยพาลไม่ป้อนให้เด็ก พอเด็กโตขึ้นก็จะไม่คุ้นอาหารนั้นๆ การสร้างนิสัยให้เด็กกินอาหารโดยไม่เลือกนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเด็กกินอาหารได้มากอย่าง การเตรียมอาหารย่อมง่ายขึ้น เพราะว่าสามารถเลือกอาหารมาสับเปลี่ยนได้มาก และทำให้เด็กไม่เบื่ออาหารได้ง่ายอีกด้วย อีกปัญหาที่พ่อแม่มักพบเป็นประจำ คือ พอเด็กโตประมาณ 1 ปีไปแล้ว พอจะช่วยตัวเองได้ ถ้าพ่อแม่ยังคงพยายามสนับสนุนให้กินอาหารหลายๆอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักต่างๆ เด็กก็จะคุ้นเอง การช่วยเสริมโดยผู้ใหญ่จึงสำคัญยิ่งที่ทำให้เด็กได้รับอาหารอย่างครบถ้วน

บางครั้งพ่อแม่จะรู้สึกเบื่อที่ต้องเคี่ยวเข็ญลูกให้กินอาหาร โดยทั่วไปแล้วถ้าเด็กไม่เจ็บป่วยหรือได้รับการปลูกฝังนิสัยการกินที่ดีแล้ว มักจะไม่มีปัญหาในการไม่ยอมกินอาหาร แต่เด็กต้องการได้รับแรงเชียร์และความสนใจจากผู้ใหญ่ จึงมักพบว่า เด็กหลายคนไม่ยอมกินอาหารง่ายๆ เพราะรู้ว่าการพยศด้วยการไม่ยอมกินอาหารจะทำให้คนสนใจ ผู้ใหญ่จึงต้องมีศิลปะในการหลอกล่อบ้าง อย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อน เพราะรางวัลที่จะได้ คือ ลูกที่สมบูรณ์น่ารัก เป็นขวัญตาขวัญใจของพ่อแม่นั่นเอง

สมุนไพร

ในปัจจุบันการแพทย์แผนไทยมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชาชน ในทางเดียวันประชาชนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจในศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงระบบเดียวไม่สามารถตอบสนองปัญหาสุขภาพได้อย่างครอบคลุม จำเป็นต้องมีทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพจึงได้นำเอาการแพทย์พื้นบ้านหรือการแพทย์ดั้งเดิมของแต่ละประเทศมาเป็นทางเลือก

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนสักเล็กน้อย เพราะเวลาที่เราพูดถึง “ยาสมุนไพร”คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเฉพาะสมุนไพรที่เป็นพืชเท่านั้น ความจริงแล้ว ยาสมุนไพรหมายรวมถึง ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ที่ยังไม่ได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ (พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510) (ยกเว้นการทำให้แห้ง) เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของราก ต้น ใบ ผล ซึ่งยังไม่ได้หั่น บด หรือสกัดเอาสารสำคัญออกไป นอกจากพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ แล้ว พืช ผัก ผลไม้นานาชนิดที่เรากินกันในชีวิตประจำวัน ก็จัดเป็นสมุนไพรเหมือนกัน แต่เป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์อ่อนๆ เรียกว่าเป็นอาหารสมุนไพร ที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยารักษาโรคไปด้วยขณะเดียวกัน โดยในวันนี้เราจะมาพูดถึง “หลักในการใช้ยาสมุนไพร” เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและสามารถใช้สมุนไพรได้ถูกต้องและปลอดภัย

สมุนไพร แม้จะเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะที่สุดแล้วหากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ถูกกับอาการ ไม่ถูกกับโรค ปริมาณขนาดที่ใช้ไม่เหมาะสม หรือใช้กับผู้ที่แพ้สมุนไพรบางชนิด ก็อาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมุนไพรบำบัดโรค จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรนั้นๆ ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนั้น การนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา ยังต้องคำนึงถึงรายละเอียดอื่นๆ อีกด้วย เช่น ธรรมชาติของสมุนไพรแต่ละชนิด สายพันธุ์ สภาวะแวดล้อมในการปลูก ฤดูกาล และช่วงเวลาเก็บ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกฤทธิ์ในการรักษาโรค ซึ่งหากทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คุณภาพของยาสมุนไพรนั้นๆ ก็จะด้อยประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าต้องการใช้สมุนไพรอย่างให้ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องใช้อย่างมีความรู้ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้ (หลักการใช้ยา, สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย) คือ

  1. ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรส่วนใหญ่มีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมากแล้ว แต่ละท้องถิ่นก็อาจเรียกชื่อแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งชื่อเหมือนกัน แต่เป็นพืชคนละชนิด เพราะฉะนั้นจะใช้สมุนไพรอะไรก็ต้องใช้ให้ถูกต้นจริงๆ ดังเช่นกรณีของหญ้าปักกิ่งที่ยกตัวอย่างข้างต้นที่นำหญ้าชนิดอื่นมาขายคนที่ไม่รู้จัก
  2. ใช้ถูกส่วน พืชสมุนไพรไม่ว่าราก ดอก ใบ เปลือก ผล หรือเมล็ด จะมีฤทธิ์ในการรักษาหรือบำบัดโรคไม่เท่ากัน แม้กระทั่งผลอ่อน หรือผลแก่ก็มีฤทธิ์แตกต่างกัน ดังนั้น การนำมาใช้ก็ต้องมีความรู้จริงๆ
  3. ใช้ให้ถูกขนาด ธรรมชาติของยาสมุนไพร คือ หากใช้น้อยไป ก็จะรักษาไม่ได้ผล แต่ถ้าใช้มากไปก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่นกัน
  4. ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรที่จะนำมาใช้ บางชนิดต้องใช้ต้นสด บางชนิดต้องผสมกับเหล้า บางชนิดใช้ต้มหรือชง ซึ่งหากใช้ไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดผลในการรักษา
  5. ใช้ให้ถูกโรค เช่น มีอาการท้องผูก ก็ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ถ้าไปใช้สมุนไพรที่มีรสฝาด จะทำให้ท้องยิ่งผูกมากขึ้น

โดย อาการและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร หรือถ้าหากจะใช้ควรปรึกษา แพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยชำนาญการ ในการรักษาโรคเหล่านี้ เนื่องจากยาสมุนไพรเป็นยาที่ออกฤทธิ์แบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นหากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง (เช่น มะเร็ง โรคเอดส์ บาดทะยัก ดีซ่าน) โรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ) โรคติดเชื้อต่างๆ (เช่น ปอดบวม ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย วัณโรค กามโรค) เป็นโรคบางอย่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสามารถรักษาได้ด้วยสมุนไพรอย่างชัดเจน ก็ไม่ควรที่จะเลือกใช้ยาสมุนไพร นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง ไอ เป็นเลือด ถ่ายเป็น มูกเลือด ชัก หอบ ตกเลือด ถูกงูพิษกัด เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร แต่ควรจะไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา

  1. ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อนเลย ควรเริ่มกินในขนาดที่น้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดที่กำหนดให้ รอดูว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ ถ้าไม่มีจึงค่อยกินต่อไป
  2. อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป เช่นยาที่บอกว่าให้ต้มกินธรรมดา ห้ามไปใช้ต้มเคี่ยวกิน เพราะยาจะเข้มข้นเกินไปจนทำให้เกิดพิษได้ เช่นยาขับน้ำนม ถ้าต้มเคี่ยวจะทำให้ยาร้อนเกินไปจนน้ำนมแห้งได้
  3. ควรรู้พิษของยาก่อนใช้ เพราะไม่มียาอะไรที่ไม่มีพิษ การรู้จักพิษจะทำให้มีความระมัดระวังในการใช้มากขึ้น
  4. ไม่ควรกินยาตัวเดียวทุกวันเป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น โดยทั่วไปไม่ควรกินยาอะไรติดต่อกันทุกวันเกินหนึ่งเดือน เพราะจะทำให้เกิดพิษสะสมขึ้นมาได้ ข้อนี้สำคัญเพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นยาสมุนไพรคงไม่มีพิษอะไร กินทุกวันคงไม่เป็นอะไร แต่ความจริงคือ ทุกอย่ามีทั้งคุณและโทษ กินมากไปก็อาจเกิดผลไม่ได้ได้เช่นกัน
  5. คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อนและคนชราห้ามใช้ยามาก เพราะคนเหล่านี้มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้ยาเกิดพิษได้ง่าย

ดังนั้นก่อนจะใช้ยาสมุนไพรแนะนำให้ท่านไปปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์แผนไทยใกล้บ้านท่าน ก่อนที่จะเสียโอกาสและเสียเวลาที่จะต้องมารักษาอาการเจ็บป่วยหลังจากการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกต้อง

วันนี้ทุกคนน่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรมากขึ้นนะครับ ว่ามีสำคัญยังไงในการเลือกใช้สมุนไพรแต่ละชนิด เพราะถ้าใช้ไม่ถูกต้น ไม่ถูกส่วน ไม่ถูกขนาด ไม่ถูกวิธีและไม่ถูกกับโรค ก็จะทำให้เราไม่หายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่หรือร้ายแรงไปกว่านั้น อาจจะไปเพิ่มความเจ็บป่วยให้แก่เราได้อีกด้วย

บทความโดย
นายบดินทร์ ชาตะเวที นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

และนิตยสารหมอชาวบ้าน


Share This

Comments

Subscribe To Our Newsletter